top of page
ความหมายของตรามหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
พระมหามงกุฎ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
พระเกี้ยวประดิษฐานบนหมอนทอง หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ จัดตั้งมหามกุฏฯ และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเงินปีละ ๖๐ ชั่ง
หนังสือ หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา โดยที่มหามกุฏฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนาสำหรับส่งเสริมการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ปากกาปากไก่ ดินสอ และม้วนกระดาษ หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียนและอุปกรณ์ในการผลิตพระคัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะมหามกุฏฯ ทำหน้าที่เป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งผลิตตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา
ดอกหญ้าแพรก ในทางการศึกษา หมายถึง ความเจริญแพร่หลายแห่งสติปัญญาและวิทยาความรู้ดุจหญ้าแพรก
พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ หมายถึง มหามกุฏฯ เป็นสถาบันเพื่อความมั่นคงและแพร่หลายของพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่
วงรัศมี หมายถึง ความเจริญรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาที่บังเกิดขึ้นจากกิจกรรม มหามกุฏฯ ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย
กำเนิดมหามกุฏฯ และการวางรากฐาน
มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ซึ่งตรงกับวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และได้พระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งของไทย บุคคลสำคัญที่ก่อให้เกิดการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกพระองค์หนึ่ง ของไทยการศึกษาของไทยก่อนที่จะมีการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น ยังเป็นไปอย่างโบราณกล่าวคือ การศึกษาของพระภิกษุสามเณรก็มีแต่การศึกษาภาษาบาลี ที่เรียกว่า การเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเดียว ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงรับเป็นพระราชภาระจัดการเป็นพระราชประเพณีสืบมาแต่โบราณ สองสามปีจึงมีการจัดสอบครั้งหนึ่ง เรียกว่าไล่หนังสือ โดยวิธีที่ผู้เข้าสอบแปลปากเปล่าให้กรรมการฟัง ผู้ที่สอบได้ก็ทรงตั้งเป็นเปรียญซึ่งสมัยโบราณมี ๓ ชั้น เรียกว่า บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก มาในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ปรับปรุงเป็น ๙ ชั้น เรียกชื่อตามประโยคคือ ประโยค ๓ ประโยค ๔ เป็นต้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณรก็ยังคงเป็นไปแบบโบราณดังกล่าวข้างต้น กระทั่งถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุแล้วจึงโปรดให้ย้ายที่บอกพระปริยัติธรรมหรือที่สอนหนังสือ พระภิกษุสามเณรจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง มาตั้งที่วัดมหาธาตุ เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัย นับเป็นวิทยาลัย แห่งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่การเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณรก็ยังคงเรียนเฉพาะภาษาบาลี อย่างเดียว เหมือนเดิม สำหรับการศึกษาของกุลบุตรนั้น ก็ยังไม่แพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป ที่เป็นโรงเรียนหลวง ก็มีอยู่ เฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นบางแห่งเท่านั้น และที่สอนกันอยู่ตามวัดต่างๆ ก็ยังไม่มีระเบียบแบบแผนอย่างเป็นระบบ สอนกันไปเท่าที่จะสอนกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็สอนกันพออ่านออกเขียนได้ ฉะนั้น ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในฝ่าย อาณาจักรและฝ่ายพุทธจักรจึงไม่พอเพียงแก่การใช้ในราชการและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ทันกาล ด้วยเหตุดังกล่าว มานี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต จึงได้ทรงพระดำริที่จะพัฒนาการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้ทันสมัย โดยทรงทดลองใช้กับพระภิกษุสามเณรวัดบวรนิเวศวิหารมาก่อนเป็นเวลา ๑ ปี ทรงเห็นว่าพระภิกษุสามเณรควรจะได้ศึกษาทั้งความรู้ทาง พระศาสนาและความรู้อื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม ซึ่งทรง เรียกว่า วิทยาสำหรับบุรุษเพราะความรู้ดังกล่าว แม้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนาโดยตรง แต่ก็จะเป็น ประโยชน์ต่อบ้านเมือง นอกจากนั้นยังทรงเห็นว่าควรจะได้มีการจัดพิมพ์ตำราและจัด อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับประกอบ การเล่าเรียนให้แก่โรงเรียนด้วย ปรากฏว่าเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เห็นว่าการเล่าเรียน แบบใหม่นี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าจะได้จัดขึ้นเพียงปีเดียว จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานจัดการ เล่าเรียนแบบใหม่นี้ให้เป็นทางราชการต่อไป พระเถรานุเถระคณะธรรมยุตได้ทำพิธีเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) อันเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จดำรงราชสมบัติมาครบ ๒๕ ปี บริบูรณ์ และเป็นวันที่ตรงกับ วันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับเปิดโรงเรียน สาขาของวิทยาลัยอีก ๕ แห่ง ในวันเดียวกันนี้ด้วย ในการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงวาง วัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย
๒. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยา ซึ่งเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตร
๓. เพื่อเป็นสถานที่จัดการสั่งสอนพระพุทธศาสนา
ความเป็นไปของมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในระยะแรก เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทั้ง ๓ ประการ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงจัดการศึกษาในมหามกุฏฯ เป็น ๒ ส่วน คือ
ส่วนที่หนึ่ง จัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสามเณรตามหลักสูตรแบบใหม่ขึ้นตามพระอาราม หลวงในคณะธรรมยุตทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยทรงจัดหลักสูตรพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่เป็น ๖ ชั้น เพื่อให้ ผู้เรียนมีความรู้ภาษามคธดี และเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ในทางพระศาสนาดี และความรู้ในทางพระศาสนานั้นย่อมมี ความรู้เรื่องพระวินัยเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น หลักสูตรแบบใหม่จึงเน้นในเรื่องการศึกษา พระวินัยปิฎก ส่วนการ ศึกษาพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกนั้น ถือว่าเป็นส่วนประกอบ หลังจากจัดการศึกษาตามหลักสูตรใหม่ได้ ๒ ปี เห็นว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้จัดหลักสูตรที่เรียกว่า ชั้นพิเศษเพิ่มเติมขึ้นอีก แต่ไม่บังคับให้นักเรียนทุกคนต้องเรียน
ส่วนที่สอง จัดตั้งโรงเรียนหนังสือไทย สำหรับสอนเด็กวัดและเด็กบ้านขึ้น ควบ คู่กับโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ตั้งขึ้นในพระอารามนั้นๆ ซึ่งนับเป็นการดำเนินตามวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒ ของมหามกุฏ ฯ โดยตั้งขึ้นในปีที่ ๒ แห่งการตั้งมหามกุฏฯ ใช้หลักสูตรของกรมศึกษาธิการ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ชั้น เรียกว่า โรงเรียนมูล สามัญชั้นต่ำ สอนเพียงอ่าน เขียน และคิดเลข บวก ลบ คูณ หาร เป็นต้น และโรงเรียนมูลสามัญชั้นสูง สอนเขียน อ่าน แต่งข้อความ ไวยากรณ์ คิดเลข พระราชพงศาวดาร ภูมิศาสตร์ ธรรมจริยา วิทยาการตามแบบเรียนเป็นต้น ในการจัดตั้งโรงเรียนหนังสือไทยนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงให้จัดทำบัญชีเด็กวัดกับอาจารย์ของเด็ก และให้ ใช้ธรรมเนียมเดิม คือ ให้วัดเป็นผู้ดูแลเพราะ จะทำให้จัดได้ทั่วไป และทำให้มีผลดีคือ
๑. คนทั้งปวงจะได้เห็นว่า พระไม่อยู่เปล่า ทำธุระฝึกสอนอยู่เสมอ
๒. จะเป็นสง่าแก่บ้านเมือง ว่ามีคนเล่าเรียนมากเหมือนกัน
๓. เมื่อจัดการขึ้นแล้ว ก็จำจะต้องมีการตรวจสอบความรู้ว่า วันไหนสอนได้ถึงไหน จะได้จัดระเบียบให้เรียบร้อย
๔. เมื่อจัดระเบียบแล้ว ผู้ใหญ่จะได้ทราบได้ว่าเด็กเรียนสิ้นความรู้อาจารย์แล้ว จะได้นำไปฝากที่อื่นไม่เสียเวลาเปล่า
๕. พระผู้เป็นอาจารย์ก็ดี เจ้าอาวาสก็ดี ไม่ประสงค์จะให้เด็กออกจากตน หรือออกจากวัด ก็ต้องปรับปรุงความรู้ขึ้น
๖. เจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้จัดการ จะมีช่องเข้าประชุมเกี่ยวกับการเล่าเรียน
๗. เมื่อเด็กนักเรียนโตขึ้นถึงกำหนดอุปสมบท ก็คงอุปสมบทที่วัดที่ตนเคยอยู่นั้นเอง วัดจะได้ไม่ร่วงโรย
กรรมการมหามกุฏฯ ได้ประชุมและตกลงตั้งหลักสูตรและแบบสอบไล่หนังสือไทยของมหามกุฏฯ ขึ้นเมื่อวัน ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) ชั้นต่ำ ให้อ่านหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ ให้เขียนตามคำบอก ให้เติมเลขบวก ลบ คูณ หาร ชั้นกลางให้เขียนตามคำบอก จากหนังสือพระราชพงศาวดาร ให้เรียงความในสุภาษิตที่ เป็นคติโลก ให้ทำเลขบัญญัติไตรยางค์ ชั้นสูง ให้ย่อความในพระราชพงศาวดาร ให้แก้คำผิดในพระราชพงศาวดาร และให้ทำเลขเศษส่วน จะเห็นได้ว่าพระราชดำริในการจัดการเล่าเรียนของศิษย์วัดที่ปรากฏออกมาในรูปของโรงเรียนหนังสือไทยของมหามกุฏฯ นี้ วัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อช่วยขยายการศึกษาของกุลบุตรในขั้นประถมออกไปให้ทั่วถึง โดยใช้วัดซึ่งมีลักษณะเป็นโรงเรียนกลายๆ อยู่แล้วเป็นฐาน และใช้มหามกุฏฯ เป็นผู้ดำเนินการในทางวิชาการ จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระองค์แรกที่ทรงพระดำริที่จะขยายการ ศึกษาไปสู่พลเมืองให้ทั่วถึงทั้งประเทศ คือเริ่มจากเด็กวัด แล้วขยายไปหาเด็กบ้าน ใช้วัดเป็นโรงเรียนไปพลางๆก่อนโดยใช้พระเป็นครูสอนในเบื้องต้น อีก ๓ ปีต่อมา คือ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทางราชการจึงดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดการเล่าเรียน ในหัวเมืองตลอดราชอาณาจักร โดยทรง อาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ขณะเมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงรับภาระอัน สำคัญนี้ เพราะทรงเห็นด้วยกับวิธีการดำเนินการตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง เพราะเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สามารถขยายโรงเรียนไปได้ทั่วพระราชอาณาจักรตามพระราชประสงค์ในชั่ว เวลาอันสั้น โดยไม่ต้องเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ทั้งไม่ขัดต่อประเพณีนิยมของพลเมืองด้วย
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ รวมวัดรังษีสุทธาวาสซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหารด้านตะวันออกเข้ากับวัดบวรนิเวศ วิหาร เพื่อปรับปรุงวัดรังษีที่ร่วงโรยอยู่นั้นให้ดีขึ้น และเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับทรงขยายและปรับปรุงการศึกษา ของมหามกุฏฯ ทั้งด้านพระปริยัติธรรม และด้านโรงเรียนภาษาไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการสอนภาษาต่างประเทศ การคำนวณชั้นสูง สอนฟิสิกส์อย่างสามัญ สอนเคมิตรี และมิแกนิกส์ เป็นต้น และทรงพระดำริให้นักเรียนเป็นนักเรียนประจำ พร้อมทั้งมีกิจกรรมนอกหลักสูตรอื่นๆ อีกมาก การปรับปรุงการศึกษาครั้งนี้ นับเป็นการปรับปรุงการ ศึกษาของมหามกุฏฯ ครั้งสำคัญ.
ตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย และออกนิตยสาร “ธรรมจักษุ”
การตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตาม วัตถุประสงค์ ข้อที่ ๓ ของ มหามกุฏฯ ที่ว่า “เพื่อเป็นสถานที่จัดการสั่งสอนพระพุทธศาสนา” เนื่องจากการสอนในมหามกุฏฯ จัดเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีนักเรียนมาก ต้องใช้หนังสือเรียนฉบับละมากๆ เพื่อความสะดวกในการผลิตตำรา ตลอดจนหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงได้ทรงพระดำริจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้น เรียกว่า “โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย” ที่วัดบวรนิเวศวิหาร “โดยอนุโลมตามครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองวัด เพื่อพิมพ์แบบเรียนที่เป็นหลักสูตร ใช้เครื่องพิมพ์หลวงที่จัดหาขึ้นเมื่อครั้งพิมพ์บาลีพระไตรปิฎก (ในรัชกาลที่ ๕)” โรงพิมพ์มหามกุฏฯ ตั้งขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ คือหลังจากได้ตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นแล้ว ๓ ปี นับเป็นครั้งแรกที่มีการผลิตตำรา เรียนพระปริยัติธรรมเป็นหนังสือเล่ม เพราะแต่ก่อนนี้ ตำราเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร คือ คัมภีร์ลาน ซึ่งไม่สะดวกในการใช้และมีจำนวนน้อย ตำราเรียนที่มหามกุฏฯ จัดพิมพ์ขึ้นนั้น ได้แพร่หลายไปสำนักอื่นๆ ด้วย เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงรับภาระจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร ก็ได้อาศัยตำราเรียนที่พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหามกุฏฯ นี้เป็นจำนวนมากสำหรับใช้สอนในโรงเรียนที่ตั้งขึ้นตามวัดต่างๆ การมีโรงพิมพ์เป็นของตนเองก็เป็นการดีสำหรับมหามกุฏฯ แต่ก็มีปัญหามากเหมือนกันในเรื่องทุนดำเนินการ คือ สิ้นเปลืองมากกว่าค่าจ้างที่อื่นพิมพ์ จึงต้องเลิกกิจการไปใน พ.ศ. ๒๔๔๖ แต่อีก ๓๒ ปีต่อมา สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ทรงฟื้นกิจการโรงพิมพ์มหามกุฏฯ ขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘
งานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ออกนิตยสารรายเดือนทางพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “ธรรมจักษุ” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้คำสอนของพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปในหมู่ประชาชน และเป็นที่ให้นักเรียนของมหามกุฏฯ ฝึกเขียนหนังสือแสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นทางแสดงออกซึ่งความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาในโรงเรียน การออกนิตยสารของตนเอง อันเป็นการให้บริการแก่ประชาชนนั้น นับเป็นสิ่งใหม่ในสมัยนั้น และยังออกอยู่เป็นประจำ ตลอดมาจนบัดนี้
สิ่งที่เปรียบเสมือนประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จในการดำเนินกิจการของมหามกุฏฯ ก็คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินที่วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้เสด็จทอดพระเนตรมหามกุฏราชวิทยาลัย และทรงมีพระราชดำรัสแสดงความพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ทรงเห็นว่าเดิมพระสงฆ์ธรรมดาผู้เรียนคันธุระ วิปัสสนาธุระ สวดมนต์ และหา แต่สุขเฉพาะตัว ไม่คิดสั่งสอนให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นนั้น พระเถรานุเถระทั้งหลายผู้เป็นกรรมการ พ้นจากข้อที่ได้ทรงดูหมิ่นนั้นแล้วทรงขอลุแก่โทษ การที่ได้จัดขึ้นนี้ มีคุณแก่พระพุทธศาสนา เป็นพระเกียรติยศแด่พระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีประโยชน์แก่ประชาชน ตั้งแต่พระองค์เองลงไป ขอพระเถรานุเถระทั้งหลายจงมีอายุอยู่ช่วยกันจัดการสืบต่อไป”
มหามกุฏราชวิทยาลัย กับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริที่จะปรับปรุงแก้ไขมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งเป็นวิทยาลัยหรือโรงเรียนพระปริยัติธรรมของหลวง ตั้งที่วัดมหาธาตุ ให้เป็น “มหาวิทยาลัยฝ่ายคณะมหานิกาย” เพื่อให้การศึกษาเล่าเรียนชั้นสูงเจริญขึ้น และทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานเปลี่ยนนามวิทยาลัยใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระองค์ คู่กันกับมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่เป็นที่เฉลิม พระเกียรติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ โดยโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส กับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการจัดทำหลักสูตรขึ้น มี ๒ หลักสูตร คือ แบบเดียวกับของมหามกุฏราชวิทยาลัยหลักสูตรหนึ่ง กับการศึกษาแบบเก่าอีกหลักสูตรหนึ่ง มหามกุฏราชวิทยาลัยกับการจัดการศึกษาหัวเมือง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ และคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปแล้ว ได้ทรง เริ่มปรับปรุงกิจการต่างๆ ภายในพระราชอาณาจักรอย่างเร่งรีบเท่าที่จะสามารถกระทำได้ และที่เป็นเรื่องสำคัญอย่าง หนึ่งและเป็นมูลรากของการพัฒนาในด้านอื่นๆ ทั้งมวลก็คือ การพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยทรงพระราชดำริ “โครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑” ขึ้น เป็นเหตุให้การศึกษาสำหรับกุลบุตรแพร่หลายทั่วไปในหัวเมืองทั่วพระราชอาณา จักร และทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เป็นผู้รับผิดชอบอำนวยการ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ช่วยจัดหาอุปกรณ์ด้วยเหตุผลที่ว่า “เอากรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นประธาน จัดวัดเป็นโรงเรียน ทั่วพระราชอาณาจักร ยกแต่เมืองมลายู หวังใจว่าจะเป็นการสำเร็จได้ โดยอาศัยประเพณีโบราณและความนิยมของไทย โรงเรียนคงจะเกิดขึ้นได้ปีละหลายๆ ร้อยโดยไม่ต้องสู้เสียอะไรมาก”
ผลพลอยได้จากการจัดการศึกษาหัวเมืองครั้งนี้ประการหนึ่งคือ เมื่อพระราชาคณะผู้อำนายการได้ออกไป ตรวจจัดการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ ได้ทราบความเป็นไปของพระสงฆ์ในถิ่นนั้นๆ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติ พระธรรมวินัยและความขัดข้องต่างๆ ทางการปกครอง สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงพระดำริจัดการปกครอง คณะสงฆ์ให้เรียบร้อยเป็นระเบียบเดียวทั่วพระราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นชอบในพระดำริ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขึ้น นับเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์การปกครองของคณะสงฆ์ไทย
กำเนิด “นักธรรม”
จากการจัดการศึกษาภาษาบาลีและการศึกษาหนังสือไทยขึ้นในมหามกุฏฯ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ได้ ทรงประจักษ์ว่าผู้มีความรู้ภาษาไทยดี ย่อมแปลและเข้าใจภาษาบาลีได้ดีด้วย จึงได้จัดการสอนหนังสือไทย และความรู้อย่างอื่นอันเนื่องกันขึ้นในโรงเรียนของมหามกุฏฯ เพื่อจูงเข้าเรียนภาษาบาลี ปรากฏว่า ผู้เรียนเข้าใจคำสอนพระพุทธศาสนาดีขึ้น จึงได้ทรงจัดเป็นหลักสูตรสำหรับศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาไทยขึ้นเรียกว่า “นักธรรม” ต่อมาได้เป็นที่นิยมศึกษาในวัดทั่วไป จึงได้ตั้งเป็นหลักสูตรนักธรรม แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของพระภิกษุ สามเณรทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ.2456 เป็นต้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้
กำเนิดมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยสืบต่อมา กิจการสำคัญของมหามกุฏ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือการจัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ในการดำเนินกิจการมหามกุฏราชวิทยาลัย นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง คือเรื่องทุน หรืองบประมาณสำหรับสนับสนุนกิจการต่างๆ ให้เป็นไปได้ จึงได้ทรงพระดำริให้มีการจัดตั้ง “ทุนนอน” สำหรับใช้ดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายบำรุงกิจการของมหามกุฏ ขึ้น โดยเมื่อมีผู้บริจาคทุนทรัพย์บำรุงมหามกุฏฯ จำนวนมากๆ ก็โปรดให้ตั้งเป็นทุนนอนเรียกว่า “บุญนิธิ” ไว้ในนามของผู้นั้นหรือในนามอื่นตามความเหมาะสม สะสมเป็นทุนนอน หรือกองทุนขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้ทรงสามารถบริหารกิจการมหามกุฏฯ ให้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับได้ และสามารถทำให้มีทุนที่จะช่วยบำรุงโรงเรียนสาขาของมหามกุฏฯ ตลอดถึงบำรุงนักเรียนที่ควรได้รับการช่วยเหลือได้ด้วย แต่ถึงกระนั้น ทุนนอนเหล่านี้ก็ยังไม่มากพอที่จะให้ดอกผลอย่างพอเพียงสำหรับขยายกิจการของมหามกุฏฯ ให้เป็นไปตามแนวพระดำริได้ทุกด้าน
พระดำริในเรื่องการจัดตั้ง “ทุนนอน” นี้เอง ที่ได้เป็นรากฐานของการก่อตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้นในเวลาต่อมา ทั้งนี้ก็เพื่อขยายผลแห่งพระดำริให้เป็นประโยชน์แก่การพระศาสนาและบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น
พ.ศ.๒๔๗๖ กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเป็นนายกกรรมการ จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ขึ้นด้วยทุนเริ่มต้นจำนวน ๕๖๙,๖๘๙.๙๗ บาท ได้รับการจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเป็นนายกกรรมการผู้จัดการเจ้าพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาธิบดี (ม.ร.ว.มูล ดารากร) อธิบดีกรมพระคล้งข้างที่ เป็นผู้จัดการฝ่ายคฤหัสถ์ ประกอบด้วยกรรมการฝ่านบรรพชิต ชุดแรก ๑๓ รูป
สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำริจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น แต่เนื่องจากทรงมีพระภาระทางการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ ตลอดถึงพระภาระของบ้านเมือง อื่นๆ ที่ต้องทรงพระดำริทรงจัดการเป็นอันมาก จึงมิทันได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระประสงค์ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ฉะนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นนายกกรรมการ จึงได้ประกาศจัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น เรียกว่า “สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นกิจการส่วนหนึ่งของมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นองค์การเพื่อจัดการศึกษาอบรมภิกษุสามเณรเปรียญให้ได้ผลสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์เดิมของมหามกุฏราชวิทยาลัย สภาการศึกษามหามกุฏฯ จึงเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงทาง พระพุทธศาสนาแห่งแรกที่จัดการศึกษาในรูปของ “มหาวิทยาลัย” และนับเป็น “มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา” แห่งแรกของไทย (คนไทยทั่วไปมักเรียกว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์)
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
การจัดตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นนั้น นับว่าเป็นผลดีต่อการที่จะดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ได้วางไว้แต่เริ่มก่อตั้งเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยได้บำเพ็ญประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจกล่าวได้โดยสรุป ดังต่อไปนี้
๑. นำผลประโยชน์ไปช่วยวัดต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้วัดนั้นๆ มีทุนนอนที่มั่นคงและเกิดดอกผลที่แน่นอนตลอดไป
๒. ช่วยจัดหาตำราเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลี แผนกนักธรรมให้แก่ พระภิกษุ สามเณรตามวัด ต่างๆ ที่ขาดแคลน
๓. การผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นงานหลักอย่างหนึ่งของมูลนิธิมหามกุฏฯ มาจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อตั้งมูลนิธิมหามกุฏฯ แล้ว ก็ได้จัดให้มีแผนกตำรา เพื่อเรียบเรียงและชำระตำรับตำราต่างๆ ซึ่ง กิจการแผนกนี้ นับเป็นการดำเนินรอยตามพระยุคลบาทแห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงริเริ่มไว้เป็นปฐมด้วยการทรงรจนาตำราทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศเพื่อใช้เป็นคู่มือศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวต่างประเทศอีกด้วย เป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของพระสงฆ์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ
๔. จัดสรรทุนจำนวนหนึ่งสำหรับบำรุงการศึกษาของสำนักเรียนต่างๆ ในคณะธรรมยุต พร้อมทั้งช่วยจัดส่งพระภิกษุจากส่วนกลาง ออกไปเป็นครูช่วยสอนนักธรรมและบาลีในวัดตามจังหวัดต่างๆ ด้วยงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการนี้
๕. ทำการจัดสรรงบประมาณ ปีละเป็นจำนวนมากอุดหนุน สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย อันเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์แห่งหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ตลอดมาจนกระทั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ได้รับการรับรองให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงกล่าวได้ว่า มูลนิธิมหามกุฏราช วิทยาลัย ได้ช่วยส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์มาโดยตลอดทั้งทางตรงคือ ด้วยทุนทรัพย์ และทางอ้อม คือ ช่วยผลิตตำราออกเผยแพร่และจำหน่ายในราคาถูก
๖. ส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ คือ ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการอุดหนุนช่วยเหลือกิจ การพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เช่น ช่วยอุดหนุนการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศของพระธรรมทูต ช่วยจัดหาวัตถุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เช่น ตำราและบริขารบริวารต่างๆ เป็นต้น ช่วยอุปการะพระภิกษุสารเณรจากต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย จนจบการศึกษาแล้วกลับไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศของตน ช่วยจัดสร้างวัดไทยขึ้นในต่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศนั้นๆ พร้อมจัดส่งพระภิกษุออกไปอยู่ประจำเพื่อช่วยสั่งสอน เช่น วัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และวัดไทยในอินโดนีเซีย เป็นต้น
๗. ส่งเสริมการศึกษาวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุในต่างประเทศ โดยจัดทุนการศึกษาแก่พระภิกษุผู้สำเร็จการ ศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ที่ไปศึกษาต่อวิชาการชั้นสูงในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับมาช่วยพัฒนาการศึกษาระดับสูงของคณะสงฆ์ไทย ตลอดถึงทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองต่อไป
๘. ดำเนินการจัดแปลและจัดพิมพ์หนังสือที่จำเป็นแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อ เผยแพร่แก่ชาวต่างประเทศ พร้อมทั้งได้จัดให้มีแผนกจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศขึ้นเป็นพิเศษอีกแผนกหนึ่ง มีการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาต่างประเทศแก่ ประชาชนทั่วไปในราคาถูก ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้พุทธศาสนิกชนหรือผู้สนใจในพระพุทธศาสนาทั่วไป ได้มีโอกาสศึกษาและรู้ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
การตั้งกองทุนในมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่ามูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับบริจาคหรือจัดผลประโยชน์ (ผาติกรรม) ในทรัพย์สิน และจัดหาผลประโยชน์อื่นโดยทางที่ชอบ ด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย สำหรับใช้จ่ายในการบำรุง อุดหนุนการศึกษาปริยัติธรรม ส่งเสริมเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ถาวร รุ่งเรืองยิ่งขึ้น พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้ขยายวัตถุประสงค์กว้างขวางยิ่งขึ้น ดังนี้
“เพื่อรับหรือจัดให้ได้มาหรือผาติกรรมซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และจัดหาผลประโยชน์โดยทางที่ชอบด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย สำหรับใช้จ่ายในการบำรุงและอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมการศึกษาอื่นใด อันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศให้ถาวรรุ่งเรืองเจริญยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจการอันเป็นสาธารณกุศล การสงเคราะห์ภิกษุสามเณร และประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆด้วย”
มูลนิธิฯ เป็นองค์การการกุศล รับบริจาคเงินตั้งเป็นทุนโดยนำดอกผลไปบำรุงวัดในพระพุทธศาสนา และสาธารณกุศล ตามที่ผู้บริจาคตั้งทุนได้ระบุไว้ มีระเบียบโดยย่อดังนี้
๑. กองทุนการกุศลจำแนกเป็น ๕ ประเภท
๑.๑ ประเภททุนสินกุศล จำนวนทุน มี ๑๐,๗๕๓ ทุน หมายความว่า ทรัพย์สินซึ่งบุคคลให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่มูลนิธินี้ โดยมีเงื่อนไขว่า มูลนิธิฯ นี้จะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อได้ผลประโยชน์ต่อทรัพย์สินนั้น
๑.๒ ประเภททุนสินอุปการะ หมายความว่า สินกุศลซึ่งมีเงื่อนไขว่า มูลนิธินี้จะต้องจ่ายดอกผลสุทธิ แห่งทุนสินอุปการะนั้นแก่บุคคลซึ่งระบุชื่อไว้ในเมื่อตั้งทุน บริจาคเงินตั้งเป็นกองทุนครั้งแรกต้องไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
(ก.) ผู้บริจาคเงินตั้งเป็นกองทุนจะกำหนดให้นำดอกผลไปบำรุงที่หนึ่งที่ใดก็ได้ ในด้าน พระพุทธศาสนา หรือสาธารณกุศล
(ข.) หรือผู้บริจาคเงินตั้งเป็นกองทุน ระบุให้เลี้ยงชีพผู้ตั้งทุน หรือผู้ตั้งกองทุนจะให้นำดอกผล บำรุงบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้ เมื่อผู้ตั้งทุนถึงแก่กรรม ดอกผลบำรุงมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ๕๐ % ที่เหลืออีก ๕๐ % แล้วแต่ผู้ตั้งกองทุนจะระบุให้บำรุงสถานที่ใดก็ได้
๑.๓ ประเภททุนมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ จำนวนทุน มี ๒๒๒ ทุน หมายความว่า ผู้ตั้งทุนประสงค์ให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จ่ายดอกผลสุทธิแห่งทุนนั้นบำรุงพระพุทธศาสนาตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ บริจาคเงินตั้งเป็นกองทุนครั้งแรกไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท
๑.๔ ประเภททุนมูลนิธิวัดบวรนิเวศวิหาร จำนวนทุน มี ๔๗๑ ทุน หมายความว่า มอบให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดการเงินทุน ของวัดบวรนิเวศวิหาร โดยนำดอกผลสุทธิแห่งทุนนั้น บำรุงวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นค่าซ่อมแซมเสนาสนะ บำรุงเป็นค่าภัตตาหาร เป็นค่ารักษาพยาบาลพระภิกษุสามเณร (ค่าคิลานเภสัช) และบำรุงค่าน้ำ ค่าไฟ ภายในวัด เป็นต้น บริจาคเงินตั้งเป็นกองทุนครั้งแรกไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท
๑.๕ ประเภททุนเพื่อการศึกษาวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หมายความว่า มอบ ทุนให้แก่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยนำดอกผล สุทธิแห่งทุนนั้นบำรุงการศึกษาสำหรับภิกษุสามเณร ณ วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บำรุงค่า ภัตตาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าเภสัช เป็นต้น บริจาคครั้งแรกตั้งเป็นกองทุนการศึกษา ๑,๐๐๐ บาทขึ้นไป บริจาคได้ที่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย โทร. ๐-๒๒๘๑-๗๘๐๑ , ๐-๒๖๒๙-๔๘๓๓ กด ๐ หรือที่ สำนักงานอธิการบดี ตึกมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในวัดบวรนิเวศวิหาร โทร. ๒๘๑-๖๔๒๗
๒. เมื่อผู้บริจาคเงินตั้งเป็นกองทุนขึ้นทะเบียนไว้กับมูลนิธิแล้ว จะถอนเงินไม่ได้
๓. เมื่อมีการขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์นั้น จะกระทำได้ต้องเป็นผู้ตั้งทุนเท่านั้น
๔. การคำนวณอัตราดอกเบี้ย จ่ายให้ไม่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ คิดดอกเบี้ยให้ทุกๆ สิ้นปี หลังหักค่าจัดการ ๑๐ % หักเข้าสมทบทุนอีก ๑๐ % ส่วนที่เหลือส่งเป็นผลประโยชน์บำรุงตามวัตถุประสงค์ต่อไป
ท่านที่ประสงค์จะตั้งทุนกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยให้แก่วัด บุคคล หรือเป็นสาธารณกุศล และเป็นทุน การศึกษาวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัยฯ ได้โปรดติดต่อรายละเอียดได้ที่
มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย (ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน งานรับบริจาค)
๒๔๑ ถนนพระ สุเมรุ ตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร บางลำภู ๑๐๒๐๐
โทร. ๐-๒๖๒๙-๔๘๓๓ , ๐-๒๖๒๙-๑๔๑๗ ต่อ ๑๑๕ โทรสาร. ๐-๒๖๒๙-๔๘๓๓
ทุกวันจันทร์- ศุกร์ เวลา ๘.๓๐ น. - ๑๗.๐๐ น.
bottom of page