พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ครั้งทรงดำรงพระราชอิสสริยยศที่สมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์)
ทรงครองวัด ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๙-๒๓๙๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๓ ในพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์ที่สอง ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๔๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ปีชวด เมื่อพระชนมายุ ๙ พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีลงสรง ได้เฉลิมพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทววงศ์ พงศ์อิศวรวรกกระษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร” เมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตั้งพระราชพิธีโสกันต์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ฯ วัดมหาธาตุฯ ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๗ เดือน เมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ทรงเป็นอธิบดีกรมมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๒ เมื่อพระชนมายุ ๒๐ พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้
วัดบวรนิเวศวิหารในอดีต
ทรงผนวชเป็นภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันพุธขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ พุทธศักราช ๒๓๖๗ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระฉายาว่า “วชิรญาณเถระ” แล้วเสด็จไปประทับ ฯ วัดมหาธาตุ เป็นเวลา ๓ วัน เพื่อทรงปฏิบัติอุปัชฌายวัตร แล้วเสด็จไปประทับจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) เพื่อทรงศึกษาวิปัสสนาธุระหลังจากทรงผนวชได้ ๑๕ วัน สมเด็จพระชนกนาถเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งแกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชฎฐราโชรสได้แสด็จเถลิงถวัยยราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ ในการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรับราชสมบัติ ในขณะนั้นกลับเป็นคุณแก่ประเทศสยาม เพราะได้ทรงศึกษาวิชาความรู้ตามแบบโบราณ ทรงแตกฉานในพระพุทธศาสนา ทรงรอบรู้หลายภาษาทั้งภาษาบาลีสันกฤต มคธ ละติน อังกฤษ และฝรั่งเศส ทรงได้ใช้ภาษาอังกฤษ ศึกษาหาความรู้แขนงต่าง ๆ อาทิ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ กฎหมาย และการศึกษา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๒ เสด็จประทับ ณ วัดสมอราย ในช่วงเวลานี้ ได้ทรงเริ่มปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยที่ได้ทรงศึกษามาในพระไตรปิฎก ถึงพุทธศักราช ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา
โปรดฯ ให้เชิญเสด็จมาครอง วัดบวรนิเวศวิหาร
ครั้นพุทธศักราช ๒๓๙๔ พระบทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี พร้อมด้วยพระราชาคณะผู้ใหญ่ในสังฆมณฑล ได้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยสมบัติ สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔ ขณะพระชนมายุ ๔๗ พรรษา รวมระยะกาลที่ทรงผนวชเป็นเวลา ๒๗ พรรษา ซึ่งนับว่าเป็นกาลสมัยที่เหมาะสม ด้วยยุคนั้นเป็นยุคของการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก พระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล จึงทรงเปลี่ยนแปลงนโยบายการปกครอง โดยให้ความสำคัญของราชการต่างประเทศ ทรงเปิดประตูเมืองคบค้ากับชาวตะวันตกอย่างเสรี และอนุญาตให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกตั้งสถานกงสุลได้ ทรงได้ตกลงทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับอารยประเทศ ทรงให้เลิกขนบธรรมเนียมที่ล้าสมัย อาทิเช่น ให้ขุนนางสวมเสื้อผ้าเข้าเฝ้า เลิกไว้ผมทรงมหาดไทย หันมาไว้ผมแบบชาวตะวันตก เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความคิดก้าวหน้าทันสมัยและมีความเชี่ยวชาญในวิทยาการหลายด้าน โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์ ทรงคำนวณการเกิดจันทรุปราคาและสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำหลายครั้ง ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลา ๑๗ ปีนั้น นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงพัฒนาประเทศเข้าสู่ความทันสมัย ทั้งในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งผู้ทรงความรู้บางท่านได้กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นนักสังคมนิยมพระองค์แรก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษาบริบูรณ์ และทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติ ๑๘ ปี
การพระศาสนา
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงตระหนักว่า พระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติผิดแผกไปจากพระธรรมวินัยแต่เดิมเป็นอันมาก การปฏิบัติศาสนกิจกระทำกันไปตามที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยไม่เข้าใจถึงความหมายและจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่ภายในเนื้อหาอันแท้จริงของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ความรู้ที่ได้จากการตีความหมายของพระไตรปิฎก พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเข้าใจในพระพุทธศาสนาที่แท้จริง และต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจถึงประโยชน์อันเกิดจากข้อปฏิบัติ โดยเน้นหนักในแนวความคิดเห็นเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาของพุทธศาสนิกชน พระองค์ทรงถือว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไรกับวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการสมัยใหม่ พระองค์มิได้ทรงคัดค้านในเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่หรือกฏแห่งกรรม แต่พระองค์ได้ทรงอรรถาธิบายในแง่มุมของปรัชญา ทรงชี้ให้เห็นถึงหลักของวิทยาศาสตร์ที่ว่าผลย่อมเกิดแต่เหตุ หากหลักเกณฑ์นี้ครอบคลุมจักรวาลทางวัตถุอยู่ เหตุใดหลักเกณฑ์เดียวกันนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงจักรวาลทางจิตด้วย ตามหลักการนี้สรุปได้ว่า "กรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ย่อมติดตามหรือส่งผลให้เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า ถึงหากจะไม่เชื่อว่าวิญญาณจะไปเกิดใหม่ แต่อำนาจแห่งกรรมย่อมไม่มีวันที่เสื่อมสูญ แนวความคิดเช่นนี้จึงนับว่ายากสำหรับบุคคลธรรมดาที่จะเข้าใจได้ หากแต่ทว่าพระองค์ทรงเข้าใจในหลักของพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง พระองค์จึงทรงพยายามให้ประชาชนของพระองค์ได้เข้าใจในหลักกรรมนี้เช่นกัน" (มอฟแฟ็ท ๒๕๒๐ : ๒๔)
เมื่อพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรตามประเพณี ทรงศึกษาศีลธรรมและเรียนภาษาบาลีขั้นต้น พระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๗ เดือน ครั้นเมื่อพระชนพรรษาได้ ๒๐ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ แต่เดิมพระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะทรงผนวชเพียงหนึ่งพรรษาตามราชประเพณี หากเกิดเหตุการณ์อันมิได้คาดคิดจึงทำให้พระองค์ทรงผนวชตลอดมาได้ถึง ๒๗ พรรษา
การพระศาสนาสมัยก่อนเสวยราชย์ (กำเนิดคติธรรมยุติกนิกาย)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวช ณ วัดศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปเสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุ ทำอุปัชฌายวัตรเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นเสด็จไปประทับจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน) ทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ครั้นเมื่อต้องทรงสมณเพศต่อไปไม่มีกำหนด จึงทรงตั้งพระทัยศึกษาให้ได้ความรู้วิปัสสนาอย่างถ่องแท้จนจบสิ้นความรู้ของครูอาจารย์ และประการสำคัญเมื่อทรงไต่ถามเพื่อสืบค้นหารากมูลของลัทธิวีธี ครูอาจารย์ไม่สามารถชี้แจ้งถวายให้สิ้นความสงสัยได้ บอกได้แต่ว่าครูบาอาจารย์สอนมาเพียงเท่านั้น พระองค์ทรงเห็นว่า การกล่าวเช่นนั้นเป็นการถือลัทธิดือรั้น ไม่รู้ผิดชอบไม่เป็นที่ตั้งแห่งปัญญา จึงเกิดท้อพระทัยในการศึกษาวิปัสสนาธุระ รวมทั้งวัตรปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ เนื่องจากทรงมีความเห็นว่า “ลัทธิสมถวิปัสสนาธุระนั้นวุ่นวายมากไปด้วยสัมโมหะวิหาร เปรียบเสมือนยืมจมูกของท่านผู้อื่นมาหายใจ ท่านซึ่งเป็นพระอาจารย์นั้นจะพูดจาสั่งสอนในพระธรรมอันใด ก็งุบงิบอ้อมแอ้ม ไม่อธิบายให้กระจ่างสว่าง ให้ได้ความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้เล่าเรียน ครั้นศิษย์พวกใด ไถ่ถามบ้างก็โกรธ พูดอ้างคติโบราณาจารย์ เช่นอาจิณกัปปิกา ว่าท่านผู้ใหญ่เคยทำอย่างนี้...”
พระตำหนักที่ประทับ วัดสมอราย ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวช
ครั้นพอออกพรรษา พระองค์ทรงเสด็จกลับมาประทับ ณ วัดมหาธาตุ เพื่อทรงศึกษาด้านคันถธุระต่อไป โดยทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง ทรงเรียนภาษามคธกับพระวิเชียรปรีชา (ภู่) เจ้ากรมราชบัณฑิตจนเชี่ยวชาญ แล้วจึงได้สอบสวนในคัมภีร์พระไตรปิฏก ทรงเห็นว่าข้อปฏิบัติด้านธรรมวินัยที่พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติกันอยู่นั้น คลาดเคลื่อนจากพระพุทธบัญญัติทำให้ไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ต่อมาได้ทรงวิสาสะกับพระเถระรามัญนามว่า พระสุเมธมุนี อยู่วัดบวรมงคล ได้บวชมาแต่เมืองมอญ ท่านมีความรู้เรื่องธรรมวินัยและมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด สามารถอธิบายให้พระองค์ทรงทราบได้อย่างชัดเจนสิ้นสงสัย พระองค์จึงได้ทรงรับวัตรปฏิบัติตามแบบพระสุเมธมุนี และทรงนับถือ และทรงนับถือเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย นับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดที่ก่อให้เกิดคติธรรมยุติกนิกายขึ้น พระองค์ทรงศึกษาด้วยความเลื่อมใสและขยันหมั่นเพียร ทรงใช้สามัญสำนึกและมีพระทัยที่ศึกษาค้นหาเหตุผลอย่างถ่องแท้อยู่เสมอ ทรงค้นคว้าให้มากถึงความรู้ทางหลักพระพุทธศาสนาและพระธรรมวินัย ทรงศึกษาจนแตกฉานเชี่ยวชาญในภาษามคธ ทั้งบาลีและสันสกฤต จนสามารถสอบสวนข้อความต่าง ๆ จากพระไตรปิฏกได้
พ.ศ.๒๓๖๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้พระองค์เสด็จเข้าไปสอบไล่พระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ทรงสอบได้เปรียญ ๕ ประโยค จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยค โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ แล้วให้เสด็จเข้าร่วมในที่ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ เพื่อสอบไล่พระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร
เมื่อครั้งประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งสอนกุลบุตรให้ได้เล่าเรียนโดยทรงเน้นข้อวินัยวัตรและสุตตันะปฏิบัติต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จึงมีผู้บรรพชาอุปสมบทประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระองค์ขึ้นหลายรูป จนมาถึง พ.ศ.๒๓๗๒ พระองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอรายอีกครั้งหนึ่ง ทรงมีศิษย์ที่ถือวัตรปฏิบัติตามจำนวน ๒๐ รูป (ม.ร.ว.ศุภวัฒน์ เกษมศรี ๒๕๒๕:๔๙๒) ได้ตามเสด็จไปวัดสมอรายบ้าง คงอยู่ที่วัดมหาธาตุบ้าง และได้แยกย้ายไปอยู่ที่วัดอื่นบ้าง เมื่อพระองค์ทรงตั้งธรรมยุติกนิกาย มีผู้นับถือพระองค์เป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ ทรงให้บรรพชาและอุปสมบทแก่ผู้มีศรัทธา และได้สงเคราะห์แก่ด้วยธรรมคถาอนุสาสโนวาท จึงมีพระสงฆ์นับถือปฏิบัติตามแพร่หลายแต่ครั้งนั้นมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสถาปนาเป็นราชาคณะเสมอเจ้าคณะรอง และเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ เมื่อทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศแล้วจึงทรงจัดระเบียบการคณะสงฆ์ การปกครองวัด และสั่งสอนประชาชนตามคติธรรมยุติกนิกาย ทำให้มีผู้ศรัทธาขอบรรพชาอุปสมบทกับพระองค์เพิ่มมากขึ้น โดยในพรรษามีพระสงฆ์ราว ๑๓๐ ถึง ๑๕๐ รูป สำหรับคติธรรมยุติกนิกาย พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องพระรัตนตรัย ความว่า “...ทรงเห็นดังนี้แล้วสังเวชในพระทัย จึงยกเอาพระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่เคารพนับถือเป็นของจริงของแท้ปฏิบัติไปตาม จึงมีนามว่า ธรรมยุติกา...ให้ปฏิบัติเอาสิ่งที่ถูกตามพระธรรมวินัยให้มีลัทธิถือมั่นในทางสวรรค์นิพพาน ที่ตรงที่ถูกเป็นทีแน่นอนกับใจว่านรกสวรรค์เป็นของมีจริง มรรคผลนิพพานเป็นของมีจริง คนมีปัญญาอันสุขุมละเอียดจึงรู้ได้ด้วยใจ จะแลไปด้วยตาไม่เห็น...” และอีกประการหนึ่งกล่าวไว้ว่า “...เราทั้งหลายผู้ธรรมยุติก-วาที มีวาทะถ้อยคำกล่าวตามที่ชอบแก่ธรรม เป็นผู้เลือกคัดแต่ข้อที่ชอบแก่ธรรม ไม่ผิดไม่ละเมิดจากธรรม....ในพระบาลีว่านี้เป็นคำสั่งสอนเป็นแก่นสารพระพุทธศาสนาแน่ดังนี้แล้ว เราทั้งหลายก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้นด้วยกายวาจาจิต....” การกำเนิดธรรมยุติกนิกายขึ้นมาเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนา ฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้เป็นเครื่องเตือนพุทธสาวกของพระพุทธองค์ว่า ให้พึงอิงอยู่กับพระธรรม มีความเป็นเหตุผลและวิทยาศาสตร์ แก่นของพระพุทธศาสนา สัจธรรมที่ลึกซึ้งอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น ประการสำคัญคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเลยที่ขัดแย้งกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และสิ่งที่วิทยาศาสตร์ค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว
พระปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ที่ประทับขณะทรงผนวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มวางระเบียบแบบแผนในด้านการปฏิรูปทางพระพุทธศาสนาไว้หลายประการคือ
๑. ทรงตั้งธรรมเนียมการนมัสการพระเช้าค่ำ ที่เรียกกันว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำเป็นประจำ และทรงพระราชนิพนธ์บทสวดเป็นภาษาบาลี เป็นคาถา เป็นจุณณิยบท ซึ่งได้ใช้แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีการรักษาศีลอุโบสถและแสดงพระธรรมเทศนาเวลาเก้าโมงเช้า และบ่ายสามโมงเย็น ในวันธรรมะสวนะและวันอุโบสถ เดือนละ ๔ ครั้ง
๒. ทรงปฏิรูปการเทศนา และการอธิบายธรรม ทรงริเริ่มการเทศนาด้วยฝีพระโอษฐ์ทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเกิดศรัทธา ไม่โปรดเขียนหนังสือไว้เทศน์ นอกจากนนั้นยังทรงฝึกหัดศิษย์ให้ปฏิบัติตาม ทรงอธิบายให้คนเข้าใจเนื้อหาของหลักธรรม ได้เผยแพร่หลักธรรมสู่ราษฎร อธิบายหลักธรรมที่ยากซับซ้อนให้เข้าใจง่าย และได้เพิ่มบทสวดมนต์เป็นภาษาไทย ทำให้มีคนนิยมฟังเป็นอันมาก
๓. ทรงกำหนดให้วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพิ่มขึ้นจากวันวิสาขบูชา ทรงพระราชนิพนธ์คำบูชา และวางระเบียบในการเดินเวียนเทียนและสดับพระธรรมเทศนา ทรงชักนำให้บำเพ็ญกุศลในเทศกาลต่าง ๆ เช่น ถวายสลากภัตร ตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายผ้าจำนำพรรษา เป็นต้น
๔. ทรงแก้ไขพิธีการรับผ้ากฐินให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ คือเริ่มแต่การซัก ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียวกัน
๕. ทรงวางระเบียบการครองผ้า คือการนุ่งห่มของภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติไปตามหลักเสขิยวัตรในพระวินัยเพื่อให้สุภาพเรียบร้อย ทรงวางระเบียบการกราบไหว้ของภิกษุสามเณร และระเบียบอาจารยะมารยาท ต้องวางตัวให้น่าเลื่อมใสศรัทธา สังวรในกิริยามรรยาทและขนบธรรมเนียม
๖. ทรงแก้ไขการขอบรรพชา และทรงแก้ไขการสวดกรรมวาจาในอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เช่น ระบุนาม อุปสัมปทา และนามอุปัชฌายะ ซึ่งเป็นภาษาบาลีในกรรมวาจา การออกเสียงอักษรบาลี ทรงให้ถือหลักการออกเสียงให้ถูกฐานกรณ์ของอักขระตามหลักบาลีไวยากรณ์
๗. ทรงให้พระสงฆ์ศึกษาพระปริยัติธรรมให้แตกฉาน สามารถแสดงธรรมเทศนา สามารถแยกระหว่างความเชื่อที่มีเหตุผล และความเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ ส่วนการศึกษาวิปัสสนาธุระ ไม่ใช่ให้รู้......อันเป็นเบื้องต้น แต่ให้รับรู้ไปถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ทรงให้ถือหลักว่าสิ่งในที่สงสัยและน่ารังเกียจไม่ควรกระทำโดยเด็ดขาดให้พึงเคารพพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
๘. ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา ความรู้ในสาขาอื่น ๆ ของพระสงฆ์ จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ศึกษาภาษาอังกฤษกับหมอแคสเวลตามความสนใจ ทำให้มีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน และมีผลสืบต่อมาให้เกิดเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในปัจจุบันนี้
ในการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดวางระเบียบแบบแผนและธรรมยุติกวัตรขึ้น ได้ทรงปฏิบัติด้วยความกล้าหาญอย่างไม่ทรงย่อท้อต่ออุปสรรค จึงทำให้เป็นที่ศรัทธาของราษฎรทุกชั้นขึ้นตามลำดับ และยังผลให้เกิดมีการฟื้นฟูและส่งผลดีแก่พระพุทธศาสนา การสืบพระพุทธศาสนาที่กระทำในรัชกาลก่อน เป็นการฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยมุ่งเน้นไปทางปริยัติธรรม และก่อสร้างปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุศาสนสถานเป็นส่วนใหญ่ แต่ศาสนบุคคลยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง อาจเนื่องมาจากเพิ่งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงต้องก่อสร้างศาสนวัตถุขึ้นมาก่อน ส่วนกรณีที่มีผู้ประพฤติผิดพระวินัยก็ทรงใช้พระราชอำนาจป้องกันปราบปรามให้สึกจากสมณเพศ แต่ยังไม่ได้เข้าไปแก้ไขในวงการสงฆ์ ดังนั้นการที่พระองค์ทรงตั้งคณะสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง จึงนับได้ว่าพระองค์ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่เดิม ให้สมบูรณ์ทั้งวินัยปิฎก และพระสุตตันปิฎก ซึ่งเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองบริบูรณ์ขึ้นในประเทศไทย
การพระศาสนาเมื่อครั้งเสวยราชย์
พุทธศักราช ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี พร้อมด้วยพระราชาคณะ ได้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้ทรงวางนโยบายที่มีพระวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังนี้
๑. ห้ามการข่มขี่และเบียดเบียนพระสงฆ์
๒. ทำการปราบปรามภิกษุที่ประพฤติทุจริต หยาบช้า และทำลามกอนาจารต่างๆ เพราะทำให้ศาสนามัวหมอง และเสียเกียรติยศแก่บ้านเมืองอีกด้วย
๓. ทรงยกย่องผู้ประพฤติชอบด้วยศีลสังวร สั่งสอนศิษย์ในข้อพระวินัย และให้ศึกษาคันถธุระ วิปัสสนาธุระ ตามสมณกิจ
๔. ทรงนับถือเฉพาะแต่แก่นพระพุทธศาสนา ให้เห็นสัจจธรรมอันลึกซึ้งที่จะนำสู่ความหลุดพ้น ส่วนเปลือกภายนอกที่เข้ามาปะปนในพระศาสนาไม่ทรงนับถือ เว้นแต่สิ่งที่ได้กลายมาเป็นธรรมเนียมแบบแผน ก็ยอมให้คงไว้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา ทรงเริ่มทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงและเรียบร้อยขึ้นในสังฆมณฑล นับแต่แรกที่เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ทรงวางพระองค์ให้เป็นกลางระหว่างสงฆ์ต่างนิกาย เมื่อคราวพระราชพิธีเสด็จฯเลียบพระนครนั้น โปรดให้กระบวนเสด็จเลียบพระนครทางสถลมารคไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งเป็นวัดสำคัญแต่เดิม และเสด็จทางชลมารคไปยังวัดบวรนิเวศ อันเป็นวัดสำคัญของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนาโดยไม่ลำเอียง และระงับข้อสงสัยที่ว่า เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วจะใช้พระราชอำนาจบังคับพระสงฆ์ให้เป็นสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเสียหมด และเมื่อคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายถวายฎีกาเพื่อขอพระบรมราชานุญาตกลับไปห่มแหวกดังเดิม พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่า การปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นกิจของสงฆ์ผู้ปฏิบัติ มิใช่ราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะทรงสั่งให้ทำประการใด (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ๒๕๑๕ : ๑๓๑) จะเห็นได้ว่าทรงระมัดระวังในการวางพระองค์ให้เป็นกลางอย่างเคร่งครัดเพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แม้ตำแหน่งในทางสมณศักดิ์ก็เช่นกัน ทรงส่งเสริมโดยถือหลักเกณฑ์อายุพรรษาและคุณธรรม ความรู้ เป็นสำคัญมากกว่ายึดถือนิกาย และมีพระราชดำรัสสั่งในราชการให้ถือว่าพระสงฆ์สองนิกายเป็นอย่างเดียวกัน ฐานะเสมอกัน การสังฆมณฑลก็มิได้แตกร้าวตลอดรัชสมัยของพระองค์ ด้วยพระสงฆ์พากันเลื่อมใสในพระปรีชาสามารถขององค์อัครศาสนูปถัมภก
สำหรับถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา ทรงบูรณะให้สมบูรณ์มากกว่าที่จะทรงสร้างใหม่ ทรงมีพระราชดำริว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างวัดไว้มากพอแล้ว วัดที่ทรงสร้าง ได้แก่ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นต้น โดยวัดที่ทรงสร้างไม่มีพระราชประสงค์ให้ใหญ่โตเพราะจะรักษดูแลยาก ดังประกาศความว่า “...ในหลวงบัดนี้ก็ไม่สู้ถนัดที่จะคิดสร้างวัดใหญ่วัดโต เพราะเห็นว่าของชำรุดก็ไม่มีใครซ่อม วัดใหญ่นักก็ถวายเป็นที่อยู่ของศัตรูพระศาสนาไป จึงโปรดแต่ที่จะสร้างวัดเล็กๆ ที่จะบรรจุพระสงฆ์ ๓๐ รูป ลงมาพอให้เจ้าอาวาสมีความรักวัดบ้าง เอาใจใส่วัดบ้าง...”
ที่มา : www.watbowon.com/Monk/ja/01/