top of page
_1_191.jpg
Untitled-2-copy-708x1024.jpg
ประวัตินิตยสารธรรมจักษุ
                       งานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็คือออกนิตยสารรายเดือนทางพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “ธรรมจักษุ” นับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหามกุฏฯ ในข้อที่ ๓ เหมือนกัน หนังสือธรรมจักษุ เริ่มออกเมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ.๑๑๓ (พ.ศ.๒๔๓๗) หลังจากได้ตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ ๑ ปี วัตถุประสงค์สำคัญของการออกหนังสือธรรมจักษุ ก็คือเพื่อให้คำสอนของพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปในหมู่ประชาชน ในระยะแรก ๆ เรื่องต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ ก็ได้จากกรรมการของมหามกุฏฯ ช่วยกันแต่งบ้าง แปลบ้าง ผู้รู้อื่น ๆ ทั้งที่เป็นพระและคฤหัสถ์ช่วยกันเขียนบ้าง ต่อมาก็ให้ภิกษุสามเณรนักเรียนของมหามกุฏฯ ช่วยกันแต่ง เป็นการฝึกหัดให้นักเรียนของมหามกุฏฯ ได้แสดงความสามารถของตนตามที่ตนถนัดให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน

 

 

 

 


เล่ม ๒ ตอนที่ ๔ จำนวน เดือน มกราคม ร,ศ, ๑๑๔ VOL. 2 NO. 4 JANUARY 1894

                      หนังสือธรรมจักษุ นอกจากจะเป็นนิตยสารเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเท่ากับเป็นเวทีฝึกหัดนักเรียนของมหามกุฏฯ ให้รู้จักเขียนรู้จักแต่งหนังสือแสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นทางแสดงออกซึ่งความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาในโรงเรียน เป็นการฝึกอธิบายหรือสั่งสอนพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง เรื่องราวที่ลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุ จึงเป็นนานาทรรศนะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา รวมทั้งวิทยาการอื่น ๆ ที่น่ารู้ หนังสือธรรมจักษุจึงเป็นที่นิยมของผู้อ่านมากในยุคนั้น ที่สำคัญก็คือหนังสือธรรมจักษุไม่ได้พิมพ์จำหน่าย แต่แจกจ่ายไปแก่ผู้ที่มีอุปการะต่อมหามกุฏราชวิทยาลัย เท่ากับเป็นการตอบแทนและเป็นการแสดงผลงานของมหามกุฏฯ ให้ผู้ที่อุปถัมภ์บำรุงมหามกุฏฯ ได้รับทราบเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
                      เนื่องจากเรื่องต่าง ๆ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือธรรมจักษุเป็นเรื่องที่มีสาระประโยชน์ ครั้นหนังสือธรรมจักษุที่ออกเป็นรายเดือนหมดลง ผู้ที่ต้องการในภายหลังมักหาไม่ได้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  จึงทรงพระดำริว่า หากได้รวบรวมเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้นมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดเป็นหมวด ๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และเป็นประโยชน์ในทางศึกษาค้นคว้าด้วย  จึงได้โปรดให้รวมเรื่องที่มีสาระเป็นหลักฐานจากหนังสือธรรมจักษุเป็นหมวด ๆ หรือเป็นชุด ๆ แล้วพิมพ์ซ้ำขึ้นอีก โดยตั้งชื่อหนังสือชุดนี้ว่า “ธรรมสมบัติ” เช่นธรรมสมบัติหมวดที่ ๑ รวมพิมพ์เรื่องปฐมสมโพธิ ของ สมเด็จพระสังฆราช (สา) ธรรมสมบัติหมวดที่ ๓ รวมพิมพ์พระสูตรแปลที่เรียกชื่อว่าพุทธสมัย เป็นต้น หนังสือธรรมสมบัตินี้ออกเป็นรายเดือนเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๘ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๖๙ จึงได้เลิกไป รวมเวลาที่ออกเผยแพร่ได้ ๑๒ ปี จากการรวมพิมพ์เรื่องต่าง ๆ เป็นหนังสือชุดธรรมสมบัตินี้ ก็ทำให้เกิดตำราหรือหนังสือที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นการทำให้คำสอนของพระพุทธศาสนาแพร่หลายได้อีกทางหนึ่ง
                      การที่มหามกุฏฯ ได้มีการออกนิตยสาร “ธรรมจักษุ” ดังกล่าวนี้ ก็นับเป็นวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยอีกเหมือนกัน ที่มีการออกนิตยสารทางวิชาการเป็นของตนเอง เป็นการนำวิชาความรู้อันเป็นผลของการศึกษาของวิทยาลัยหรือสถาบันออกเผยแพร่ไปยังประชาชน ทำให้ประชาชนได้มีส่วนได้รับประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าของวิทยาลัยหรือสถาบันด้วย เป็นทำนองที่ปัจจุบันเรียกว่า ให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนนั่นเอง ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น 
นิตยสารธรรมจักษุออกมาได้ถึงปี ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) ต้นรัชกาลที่ ๖ ก็ต้องหยุดไป เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พร้อมทั้งกรรมการมหามกุฏฯ ท่านอื่น ๆ ทรงมีภารกิจทางด้านการคณะสงฆ์และการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์มาก โดยเฉพาะในระยะนี้ เป็นระยะที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเร่งรัดการปรับปรุงการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้งในด้านบาลีและนักธรรม ต้องทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการทรงพระนิพนธ์ตำราเรียนสำหรับการศึกษานักธรรมที่ทรงพระดำริจัดเป็นหลักสูตรขึ้นนใหม่ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาที่จะทรงจัดการเกี่ยวกับการออกนิตยสารธรรมจักษุ จึงจำเป็นต้องพักการออกหนังสือธรรมจักษุไว้ชั่วคราว รวมเวลาที่ออกหนังสือธรรมจักษุในช่วงแรกนี้ ๑๘ ปี อีก ๒๒ ปีต่อมา คือ ปี พ.ศ.๒๔๗๖ หนังสือธรรมจักษุก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณ  เป็นนายกกรรมการมหามกุฏฯ ได้เริ่มออกฉบับแรก (เล่มที่ ๑๙ ตอนที่ ๑) เมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๗๖

 

 

 

 

 


เล่มที่ ๑๙ ตอนที่ ๑ ประจำเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖VOL. 19 NO. 1 OCTOBER 1915

                     หนังสือธรรมจักษุที่ออกใหม่ครั้งนี้ก็ยังคงดำเนินการไปตามแบบเดิม คือ เป็นหนังสือเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาและวิทยาการที่น่ารู้ และเป็นหนังสือที่แจกฟรีแก่ผู้มีอุปการะแก่มหามกุฏฯ
                    หนังสือธรรมจักษุ จึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของไทย และเป็นนิตยสารที่มีอายุเก่ามากเล่มหนึ่ง (๑๐๐ กว่าปี)  ที่ยังออกอยู่เป็นประจำจนบัดนี้
mk411.gif
mk412.gif
60001881_332589427454374_100783972984605

หนังสือธรรมจักษุ

                 หนังสือธรรมจักษุ (นิตยสารทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของไทย) มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธพจน์จากพระไตรปิฎก พระบรมราโชวาท หลักธรรมคำสั่งสอนต่างๆ บทความทางวิชาการ ตำนานศิลปวัฒนธรรม และข่าวสารต่างๆ ในพระพุทธศาสนา เป็นต้น โดยมูลนิธิจะจัดส่งให้สมาชิก ปีละ 12 เล่ม (เดือนละ 1 เล่ม) มีรายละเอียดค่าสมาชิก ดังนี้

                - สมาชิกในประเทศ (รวมค่าส่ง 440 บาทต่อปี)

                - สมาชิกในต่างประเทศ (รวมค่าส่งต่อปี)

                - รวมค่าส่งทางเรือ ทุกประเทศทั่วโลก 1,650 บาท

                - รวมค่าส่งทางอากาศ (กลุ่มประเทศในภูมิภาคแหลมทอง 1,765 บาท, กลุ่มประเทศเอเชีย 2,125 บาท , กลุ่มประเทศยุโรป 2,610 บาท, กลุ่มประเทศแอฟริกา 2,845 บาท, กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ 3,080 บาท และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ 3,330 บาท

   ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมหรือขอรับแบบฟอร์มได้ที่

               มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

                    เลขที่ 241 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

 

 

 

 

เบอร์ 022811085 หรือ ID.0659659781 / ID.MAHAMAKUTA/ โทร.0659659781

 

หรือสมัครผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ได้ที่ด้านล่าง

หน้าร้าน_๒๑๐๗๒๙_0_edited.jpg
เพจศูนย์หนังสือ_0.png
แบบฟอร์มสมัครสมาชิกหนังสือธรรมจักษุ

ขอบพระคุณสำหรับการสมัครสมาชิกหนังสือธรรมจักษุ

ภายใน 1-2 วันทำการ จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับครับ

bottom of page